วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

กินไม่กินเนื้อสัตว์ คิดเอาเอง

เรื่องนี้มีเฉลยไว้ใน ชีวกสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาส์ หน้า ๔๘- ๕๓ ว่า
สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ที่อัมพวันอันเป็นสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ใกล้นครราชคฤห์ หมอชีวิกโกมารภัจจ์ เข้าเฝ้าทูลถามปัญหากะพระองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า ชนทั้งหลายฆ่าสัตว์เจาะจงต่อพระองค์ พระองค์ก็ทรงทราบอยู่และเสวยเนื้อที่เขากระทำเพราะอาศัยตนนั้น ฉะนี้ ชนที่กล่าวติเตียนพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระองค์ และชื่อพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่หรือพระเจ้าข้า อนึ่ง เพื่อนสหธรรมิกบางรูปที่กล่าวติเตียนตามวาทะนั้น จะไม่ถึงฐานะอันควรพึงครหาหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรชีวกชนเหล่านั้นชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยดำไม่จริงไม่ ดูกรชีวิกเรากล่าวว่าเนื้อที่ไม่ควรบริโภคนั้นมีสามสถาน คือ เนื้อที่ได้เห็น ได้ยิน และได้รังเกียจอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เนื้อที่ประกอบด้วยสถานสามเหล่านี้ คือ ตนไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจอย่างใดอย่างหนึ่ง เราตถาคตกล่าว่า เป็นเนื้อที่ควรบริโภค
ดูกรชีวก ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเข้าไปอาศัยบ้าน หรือนิคม แห่งใด แห่งหนึ่งอยู่ เธอย่อมแผ่เมตตาจิตไปสู่ทิศที่หนึ่งแล้วแผ่ไปสู่ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ เช่นนั้นเหมือนกัน แล้วแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ใหญ่หาประมาณมิได้ ปราศจากเวรภัยและการเบียดเบียน ไปสู่โลกทั่วทั้งหมด ทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง และเบื้องขวางอยู่ ที่นั้นคฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดีย่อมเข้าไปหา และนิมนต์ฉันในวันรุ่งขึ้น เมื่อเธอมีประสงค์ก็ย่อมรับ ครั้งราตรีนั้นผ่านพ้นไปแล้วเวลาเช้า เธอก็นุ่งห่มสบง จีวร ถือบาตร เข้าไปสู่เรือนของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีนั้น
เมื่อเขาอังคาสเลี้ยงดูเธอด้วยบิณฑบาตประณีต เธอก็มิได้ติดในบิณฑบาตนั้น เมื่อฉันก็ไม่กำหนัดทะเยอทะยาน ย่อมพิจารณาเห็นโทษและคิดจะสลัดออกอยู่เสมอ ชีวกอาการเช่นนี้เธอจะสำคัญว่า ภิกษุนั้นคิดเพื่อเบียดเบียนตนหรือคนอื่น หรือทั้งตนและคนอื่นในเวลานั้นหรือ” เขาทูลว่า “เปล่าเลยพระเจ้าข้า” ตรัสว่า “เธอคิดเพื่อฉันอาหารที่ปราศจากโทษในเวลานั้นมิใช่หรือ” เขาทูลว่า “อย่างนั้นพระเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้เคยสดับมาว่า พรหมเป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตาดังนี้ เรื่องนี้ข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นองค์พะยาน เพราะพระผู้มีพระภาคก็มีปกติอยู่ด้วยเมตตา” พระองค์ตรัสว่า “ดูกรชีวก ราคะ โทสะ โมหะ อันทำให้คนเบียดเบียนกันและกันนั้น ตถาคตได้ละแล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว เหมือนถอนรากตาล ไม่มีวันที่จะเกิดต่อไป” ดังนี้แล้ว จึงตรัสบรรยายในข้อ กรุณา มุทิตา อุเบกขาโดยพิศดารต่อไป
ในที่สุดตรัสว่า “ดูกรหมอชีวก ชนใดที่ฆ่าสัตว์เจาะจงต่อพระตถาคตหรือต่อสาวกของพระตถาคต เขาจะประสพบาปเป็นอันมาก เพราะสถานห้าแต่ละอย่าง ๆ คือ เมื่อเขาสั่งบังคับว่า “ท่านจงไปนำสัตว์โน้นมา” ดังนี้ก็ประสพบาปเป็นอันมากตอนหนึ่ง สัตว์นั้นเมือถูกผูกคอจูงมาได้รับทุกขโทมนัส เขาก็ได้ประสพบาปมากตอนหนึ่ง เมื่อผู้นั้นสั่งบังคับว่า “ท่านจงไปฆ่าสัตว์นั้น” ดังนี้ เขาก็ประสพบาปมากตอนหนึ่ง สัตว์นั้นถูกเขาฆ่าอยู่ได้รับทุกขเวทนาอย่างสาหัส เขาก็ได้ประสพบาปมากตอนหนึ่ง ผู้นั้นนิมนต์ พระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคตมาฉันเนื้อเป็นอกัปปิยะนั้นเขาก็ได้ประสพบาปมากตอนหนึ่ง จึงรวมเป็นสถานห้าประการ นี้
พระสงฆ์ไทยนั้นท่านถือหลักตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่า การฉันอาหารที่ทำด้วยเนื้อนั้น ถ้าไม่เห็นว่าเขาฆ่าจำเพาะตน ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามาจำเพาะตน และไม่สงสัยว่าเนื้อนั้นเขาฆ่ามาเพื่อจำเพาะตน ก็เป็นเนื้อที่สมควรฉันได้ แต่ถ้าหากว่า ท่านรู้ ท่านเห็น ท่านได้ยิน และท่านสงสัยว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อเอาเนื้อมาทำอาหารถวายท่าน เนื้อนั้นเป็นของไม่สมควรแก่สมณบริโภค ฉันแล้วเป็นอาบัติ เป็นโทษ เป็นบาป
ดังนั้นจึงขึ้นอยู่ที่อุบาสก อุบาสิกา ทายก ทายิกา แล้วว่า จะนำอะไรมาถวายพระ เพื่อที่จะได้บุญอันบริสุทธิ์ ไม่ให้เป็นบาปทั้งแก่ตนเองและแก่พระสงฆ์ จากพระสูตรในเบื้องต้นนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ที่ฆ่าสัตว์ เจาะจงต่อพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต เขาย่อมประสพบาปมาก ห้าสถาน เราจึงควรงดเว้นจากการฆ่าสัตว์เพื่อถวายทาน หากประสงค์หรือจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องถวายเนื้อก็ควรเอาเนื้อที่เขาฆ่าแล้วขายทั่วไปหรือเนื้อที่ตายเอง หากหาไม่ได้แล้วก็ไม่ควรถวาย ก็ควรถวายตามมีตามเกิด ก็จะเป็นบุญเป็นกุศลบริสุทธิ์มากแท้จริง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แค่คิดว่าอยากเป็นคนดี ก็ใช้ได้แล้วเพื่อน

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น